วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ลักษณะจริยธรรม คุณธรรม



คุณธรรมและจริยธรรม คือ สิ่งที่เป็นความดีควรประพฤติปฏิบัติ เพราะจะนำความสุข ความเจริญ ความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติ สังคม และบุคคล  คุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้
1. ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ประเทศชาติ นับว่ามีพระคุณ อย่างมหาศาล เพราะเป็นสถานที่ ที่เราทุกคนอยู่อาศัยอย่างผาสุกตั้งแต่เกิดจนตาย ให้เรา  ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต ให้เราได้ภาคภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีที่มีชาติเป็นของตนเอง ไม่เป็นทาสใคร เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อชาติ รักและหวงแหน ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ชาติเป็นเอกสารสืบไป  ป้องกันไม่ให้ผู้ใดมาทำลาย ปกป้องชื่อเสียงไม่ให้ใครมาดูแคลน และประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาติบ้านเมือง  ศาสนา เป็นที่พึ่งทางกายและทางจิตใจ ทำให้มนุษย์ดำรงชีพร่วมกันในสังคมอย่างมีสันติสุข เรามีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบต่อไป  ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา  สร้างและบูรณะ ศาสนาสถาน ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิจ  ประพฤติต่อผู้อื่นด้วยความสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ  องค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นศูนย์รวมของชาวไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงเป็นผู้นำและ        ผู้ปกป้องชาติและศาสนา ทรงบำบัดทุกข์และบำรุงสุข ให้แก่ราษฎรด้วยความเสียสละ     ในทุก ๆ ด้าน  เราต้องเทิดทูนพระองค์ไว้สูงสุด รับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณอย่าง         เต็มความสามารถ ประพฤติตนเป็นคนดีไม่เป็นภาระแก่พระองค์ และถ้ามีความจะเป็นแม้ชีวิตของเราเองก็สามารถจะถวายพลีชีพได้ เพื่อความเป็นปึกแผ่น และยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่  หมายถึง การปฏิบัติกิจการงานของตนเอง และที่ได้รับมอบหมายด้วยความมานะพยายาม อุทิศกำลังกาย กำลังใจอย่างเต็มความสามารถ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนงานประสบความสำเร็จตรงตามเวลา บังเกิดผลดีต่อตนเองและส่วนรวม  ทั้งนี้รวมไปถึงการรับผิดเมื่องานล้มเหลว พยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรค  โดยไม่เกี่ยงงอนผู้อื่น
4. ความซื่อสัตย์  หมายถึง การปฏิบัติตน ทางกาย วาจา จิตใจ ที่ตรงไปตรงมา  ไม่แสดงความคดโกงไม่หลอกลวง  ไม่เอาเปรียบผู้อื่น  ลั่นวาจาว่าจะทำงานสิ่งใดก็ต้องทำให้สำเร็จ  เป็นอย่างดี  ไม่กลับกลอก  มีความจริงใจต่อทุกคน  จนเป็นที่ไว้วางใจของคนทุกคน
5. ความเสียสละ  หมายถึง การปฏิบัติตนโดยอุทิศกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา   เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมด้วยความตั้งใจจริง  มีเจตนาที่บริสุทธิ์  คุณธรรมด้านนี้เป็นการสะสมบารมีให้แก่ตนเอง ทำให้มีคนรักใคร่ไว้วางใจ เป็นที่ยกย่องของสังคม ผู้คนเคารพนับถือ


6. ความอดทน  หมายถึง ความเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใด ๆ มุ่งมั่นที่จะทำงานให้บังเกิดผลดีโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน  ความอดทนมี 4 ลักษณะ คือ
- อดทนต่อความยากลำบาก เจ็บป่วย ได้รับทุกขเวทนาก็ไม่แสดงอาการจนเกินกว่าเหตุ
- อดทนต่อการตรากตรำทำงาน ไม่ทอดทิ้งงาน ฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบผลสำเร็จ
- อดทนต่อความเจ็บใจ  ไม่แสดงความโกรธ  ไม่อาฆาตพยาบาท  อดทนต่อคำเสียดสี
- อดทนต่อกิเลส คือ ไม่อยากได้ของผู้อื่นจนเกิดทุกข์ ไม่ตอบโต้คนอื่นที่ทำให้เราโกรธ และไม่ลุ่มหลงในสิ่งที่จะพาเราไปพบกับความเสียหาย
7. การไม่ทำบาป  หมายถึง การงดเว้นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย  สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเพราะเป็นเรื่องเศร้าหมองของจิตใจ  ควรงดเว้นพฤติกรรมชั่วร้าย 3 ทาง คือ
- ทางกาย  เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทุจริต ไม่ลักขโมย ไม่ผิดประเวณี
- ทางวาจา  เช่น ไม่โกหก ไม่กล่าวถ้วยคำหยาบคาย ไม่ใส่ร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ
- ทางใจ  เช่น ไม่คิดเนรคุณ ไม่คิดอาฆาต ไม่คิดอยากได้
8. ความสามัคคี หมายถึง  การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีการเกี่ยงงอนหรือคิดชิงดีชิงเด่นกัน  ทุกคนมุ่งที่จะให้สังคมและประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีความรักใคร่กลมเกลียวกันด้วยความจริงใจ  ความไม่เห็นแก่ตัว  การวางตนเสมอต้นเสมอปลายก็หมายถึงความสามัคคีด้วย

คุณธรรม จริยธรรม ที่ควรปลูกฝังแก่นักศึกษา


การปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรมให้แก่นักศึกษา
สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยเราในปัจจุบันนี้  ดูน่าเป็นห่วง   อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ   ปัญหาความเสื่อมถอยในด้าน คุณธรรม  จริยธรรมของคน ทั้งในระดับนักการเมือง  ข้าราชการ  หรือ คนในแวดวงอาชีพอื่นๆ  ภาพที่เห็นชัดเจนและเป็นข่าวอยู่ทุกวัน ก็คือ  การทุจริตคอรัปชั่น  การก่ออาชญากรรม   การเสพและการค้ายาเสพติด  ซึ่ง แพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชนไทย  ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึง อุดมศึกษา  รวมถึงการแต่งกายล่อแหลม ที่เป็นมูลเหตุก่อให้เกิดอาชญากรรม ทางเพศ ของนักศึกษาหญิง   การขายบริการทางเพศของนักศึกษา   การที่นักศึกษาอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา  การทะเลาะวิวาทของนักศึกษาทั้งภายในสถาบันเดียวกันและต่างสถาบัน  เหล่านี้เป็นต้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มของเยาวชนดังกล่าว  ทุกคนต่างลงความเห็นตรงกันว่า  เยาวชนไทยของเราขาดการปลูกฝังในด้าน คุณธรรม  จริยธรรม อย่างยั่งยืน  คือ อาจจะมีอยู่บ้างแต่เป็นแบบฉาบฉวย  ไม่เกิดผลที่ถาวรในขณะที่สังคมไทยต้องการเห็นภาพการพัฒนาเยาวชนไทยไปสู่การเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ  มีสติ  ปัญญา  มีความรู้และคุณธรรม  มีจริยธรรมและวัฒนธรรม  ในการดำรงชีวิต  สามารถอยู่ร่วมกับ ผู้อื่นได้ อย่างมีความสุข    มีรายงานผลการสำรวจของผู้ที่ถูกให้ออกจากงาน เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวพนักงานเอง  พบว่า  17 % ถูกให้ออกงานเพราะ ขาดทักษะความรู้และประสบการณ์     83 %  ถูกออกจากงานเพราะปัญหาเรื่อง ความประพฤติ และบุคลิกภาพ   ในขณะเดียวกันมีผู้ไปสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ในการพิจารณารับคนเข้าทำงาน ในหน่วยงาน  องค์กร  สถาบันต่างๆ พบว่า   ผู้ประกอบการส่วนมากต้องการบัณทิต ที่มีคุณลักษณะดังนี้      ขยัน       ประหยัด       ซื่อสัตย์       อดทน       เสียสละ   และ มีความรับผิดชอบ    ซึ่งปรากฏการณ์ในสังคม    ดังกล่าวมานี้เป็นผลโดยตรง  มาจากเรื่องของการปลูกฝัง ทางด้านคุณธรรม  จริยธรรม นั่นเอง
 
จะปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรมให้แก่นักศึกษาได้อย่างไร
จริยธรรม  เป็น  หลักความประพฤติ  หรือ แนวทางในการปฏิบัติตน  ที่ ควรแก่การยึดถือ ปฏิบัติ  เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข  โดยมีคุณธรรม และ ศีลธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ     การปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรม  จึงเปรียบเสมือนการพัฒนาคุณภาพจิตใจ ที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของคน     คุณธรรม  เป็นสภาวะที่อยากให้เราทำอะไรที่เป็นคุณ    ศีลธรรม  เป็นสภาวะที่เราห้ามจิตใจของเราไม่ให้ทำในสิ่งผิด หรือบอกไม่ให้คนอื่นทำ   ทั้งคุณธรรม และ ศีลธรรม จึงเป็นตัวกำหนดความประพฤติของเรา   ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร   คือ  เป็นตัวกำหนดจริยธรรม      จริยธรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลมาจากศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับ   วัฒนธรรม   ประเพณี  และกฎหมาย
ศาสตราจารย์  นพ.เชวง  เตชะโกศยะ ให้แนวคิดในเรื่องการปลูกฝัง คุณธรรม จริยธรรม ให้กับเยาวชน เอาไว้ว่า  คนเราถ้าไม่มีความรู้สึกผูกพันต่อ พ่อ แม่  ต่องานต่อแผ่นดิน  และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อเขา  จะสอนเท่าไดก็คงไม่มีประโยชน์  เพราะเขาจะเกิดความสำนึกในหน้าที่  ในคุณค่าของชีวิต  คุณค่าของความเป็นมนุษย์  ย่อมเป็นไปไม่ได้  เพราะแม้ชีวิตของเขาเอง  เขาก็ไม่รับผิดชอบเสียแล้ว เขาจะไปรับผิดชอบในหน้าที่ของเขาที่ต้องทำความดีและให้ความดีแก่สังคมที่ได้รับประโยชน์ได้อย่างไร  ดังนั้น คุณธรรม  จริยธรรม  จึงเป็นตัวผล ที่จะต้องสร้างด้วยเหตุ  คือ  ให้ความรู้  ความเข้าใจแก่เขาเป็นอย่างดีนั่นเอง  และมีผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย   การปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรม  จำเป็นต้องมีครู 3 สถานะ  เป็นต้นเหตุ  คือ  ครูที่บ้าน  ครูที่โรงเรียน / สถานศึกษา  และครู  ที่เป็นคำสอนในศาสนา    เพราะบุคคล 3  จำพวกนี้  ซึ่งหมายถึง    1. บุพการี      2. ครู   3. พระสงฆ์   เท่านั้น ที่อยากเห็นบุคคลอื่นได้ดี     ถ้าขาดเหตุ หรือ เหตุ ไม่ครบถ้วน   ผลคือ  คุณธรรม และ จริยธรรม  ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้  หรือไม่สมบูรณ์นั่นเอง   เรามักจะเอาผลกลับมาเป็นเหตุ  คือ  เอา จริยธรรม  หรือศีลธรรม  ไปสอนเขาโดยตรง   จริยธรรม  ศีลธรรม และ คุณธรรมอื่นๆ  ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้  หรือ มีขึ้นได้น้อยเต็มที

0
ฯพณฯ พลเอกวิจิตร  กุลวณิชย์  องคมนตรี ได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเยาวชนในสังคมปัจจุบันเอาไว้ตอนหนึ่งว่า  เป็นเพราะคนไทยไม่รักแผ่นดินเกิด  ท่านขอร้องให้ ครู - อาจารย์  ไปสอนลูกศิษย์ว่า   ตื่นนอนตอนเช้าทุกวัน ให้มองหน้าตนเองในกระจก แล้วตั้งคำถาม   ถามตนเอง  3 ข้อ ( ให้ตอบด้วยความจริงใจ )
1.  ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้ เราเคยทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์ต่อ  แผ่นดินเกิดบ้าง
2.  ถ้ายังไม่เคยทำ   ให้ถามตนเองต่อว่า  แล้วจะเริ่มเมื่อไหร่   เช่น เมื่อถึงวันเกิด  วันสำคัญต่างๆ  เป็นต้น
3. ถ้าไม่เคยทำและยังไม่คิดจะทำ   ดังข้อ 1  และ ข้อ 2   ให้ถามตน   เองอีกว่า   ช่วงชีวิตที่ผ่านมา  เคยทำอะไรที่เป็นผลเสียหาย ต่อ
แผ่นดินเกิดบ้าง และจะเลิกเมื่อใด




คุณธรรมจริยธรรมของครูตามหลักศาสนาพุทธ

  จากการศึกษางานวิจัยด้านจริยธรรมครูพบว่า มีหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ครูควรยึดถือปฏิบัติ ซึ่งได้มาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา  พบว่า มีหลักธรรมใน 10 หมวด  ดังนี้
             1.  หัวใจของพุทธศาสนา 3 ประการ เป็นหลักธรรมที่ครูควรยึดถือและปฏิบัติ คือ
                     1.1  เว้นจากการกระทำความชั่ว
                     1.2  ให้กระทำความดี
                     1.3 ทำจิตใจให้ผ่องใส เบิกบาน
             2.  ธรรมเทศกธรรม 5 คือ การตั้งใจประสิทธิ์ความรู้ โดยตั้งตนอยู่ในธรรม ดังนี้
                     2.1 อนุบุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ มีหลักการสอนตามขั้นตอนการสอนหรือเนื้อหาสาระตามลำดับความง่าย ยาก ลุ่มลึกมีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป
                     2.2 ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจชัดในแต่ละประเด็น อธิบายให้มองเห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล
                     2.3 อนุทยตา ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนผู้เรียนด้วยจิตเมตตาให้เข้าใจ และได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้
                     2.4 อนามิสันดร ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่ง เห็นแก่อามิส คือ สอนผู้เรียนให้ได้รับความรู้ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ มิได้มุ่งที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน เพื่อที่จะได้ลาภสินจ้าง ของขวัญหรือผลประโยชน์ตอบแทน
                     2.5 อนุปหัจจ์ วางจิตตรงไม่ให้กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักการสอนตามเนื้อหาสาระในการสอนมุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจ ไม่แสดงพฤติกรรมเสียดสีผู้อื่น ไม่ยกตนเองกับการเปรียบเทียบหรือข่มขี่ผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย
         

3. หลักตรวจสอบ 3 ครูอาจตรวจสอบตนเองด้วยลักษณะการสอนที่ดี 3 ประการ คือ
                     3.1 สอนด้วยความรู้จริง ทำได้และปฏิบัติได้จริงจึงดำเนินการสอน
                     3.2 สอนอย่างมีเหตุผลให้ผู้เรียนเรียนรู้ และพิจารณาเข้าใจด้วยปัญญาจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
                     3.3 สอนให้ได้ผลจริง สำเร็จตามความมุ่งหมายของเนื้อหาสาระที่สอนให้ผู้เรียนเข้าใจได้อย่างกระจ่าง สามารถนำไปใช้ปฏิบัติเป็นผลสำเร็จได้จริง เป็นต้น
                4.  กัลยาณมิตรธรรม 7 เป็นธรรมมะสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู มีนักวิชาการบางท่านใช้ครุฐานิยม หรือคุรุธรรมนิยม ได้แก่
                    4.1 ปิโย หมายถึง น่ารัก คือ การทำตัวเป็นที่รักแก่ศิษย์และบุคคลทั่วไป การที่ครูจะเป็นที่รักแก่ศิษย์ ต้องวางตนให้เข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกเป็นกันเองชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
                    4.2 ครุ หมายถึง การเป็นบุคคลที่น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ มีความหนักแน่นมั่นคงในด้านจิตใจ เป็นที่พึ่งแก่ผู้เรียนให้รู้สึกปลอดภัย และมีคุณสมบัติในการพัฒนาผู้เรียน
                    4.3 ภาวนีโย คือ การเป็นผู้น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริง มีภูมิปัญญาแท้จริงได้รับการยกย่อง เป็นผู้ที่มีความประพฤติดีงามควรแก่การเคารพ เป็นผู้ที่ฝึกฝนปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ คือ มีบุคลิกภาพดี แต่งกายเรียบร้อย กิริยาท่าทางสง่าผ่าเผย วาจาอ่อนหวาน มีภูมิความรู้จริงและมีระเบียบวินัย การที่ครูจะอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นผู้มีความประพฤติดีจะต้องวางตน และฝึกตนให้เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีด้วย ให้เป็นที่ยกย่องเป็นแบบอย่าง ให้ผู้เรียนระลึกถึง เกิดความซาบซึ้ง มั่นใจและภาคภูมิใจ
                   4.4 วัตตา คือ เป็นผู้ที่มีวาทศิลป์รู้จักพูด รู้จักชี้แจงและอธิบายให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร พูดอย่างไร ทั้งคอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนและให้คำปรึกษาที่ดี เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ความสามารรถ เป็นคนดี คือ ใช้ความรู้ความสามารถไปในทางสุจริต เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้
                   4.5 วจนักขโม คือ เป็นผู้ที่มีความหนักแน่น อดทนต่อถ้อยคำในการ      วิพากษณ์วิจารณ์อดทนต่อกิริยาวาจาอันก้าวร้าวรุนแรงของผู้อื่นได้ เป็นผู้ฟังที่ดีมีความสำรวม สามารถยับยั้งชั่งใจควบคุมอารมณ์ไม่แสดงออกมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะหน้าที่ของครู คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนในการเรียนรู้ให้มีการพัฒนาตนต่อการเรียนรู้ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สังคมต้องการ ครูจะต้องไม่เบื่อหน่ายหรือขุ่นเคือง มีความพร้อมให้ความกระจ่างต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องต่าง ๆ ที่ยังเคลือบแคลงสงสัยไม่เข้าใจอย่างเหมาะสม ครูจะต้องระลึกเสมอว่า ผู้เรียนมีความแตกต่างด้านศักยภาพ ความสามารถและสติปัญญาในการเรียนรู้
                   4.6 คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา คือ สามารถขยายข้อความที่ยากให้ง่ายแก่การเข้าใจ เพราะเนื้อหาสาระในการเรียนรู้ที่ครูนำมาสอน ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้เรียนไม่เคยเรียนมาก่อน ครูจะต้องมีเทคนิคการสอนหรือกลวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องยาก ๆได้ง่าย ด้วยวิธีการสอนอย่างหลากหลาย
                   4.7 โน จัฎฐาเน นิโยชะเย คือ รู้จักและแนะนำผู้เรียนไปในทางที่ถูกที่ควรไม่ชักนำไปในทางชั่ว โดยไม่อธิบายชักชวนหรือชี้แนะในทางที่เสื่อมเสียไม่สมควร

5. ธรรมโลกบาล 2 อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวประจำใจ คือ
                    5.1 หิริ ความละอายใจต่อการทำชั่ว ความละอายแก่ใจไม่คิดทำในสิ่งที่ไม่ดีงาม
                    5.2 โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อการทำความชั่วและผลของการกระทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีงามทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งที่คนเห็นและคนไม่เห็น
                6. พรหมวิหาร 4  เป็นคุณธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่  ครูจะต้องมีธรรมประจำใจอันประเสริฐนี้เพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงาม  ได้แก่
                     6.1 เมตตา  คือ  ความรักใคร่  ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข  มีจิตใจที่ดีงาม  ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีเมตตาเป็นที่ตั้ง
                     6.2 กรุณา  ความสงสาร  เอ็นดูศิษย์  พึงช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์และความไม่รู้
                     6.3 มุทิตา  คือ  ความชื่นชมยินดีเมื่อศิษย์ได้ดี  และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏ  อันเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง
                     6.4 อุเบกขา  คือ  การวางตัววางใจเป็นกลาง  อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา  มีจิตเรียบตรงเพียงธรรมดุจตราชั่ง  ไม่เอนเดียงด้วยรักหรือชัง  พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม  พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเมื่อผู้อื่นร้อนเป็นทุกข์
                 7. สังคหวัตถุ  4  เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคล และการประสานความสามัคคีในกลุ่มคน  ประกอบด้วย
                      7.1 ทาน  หมายถึง การให้ ครูอาจารย์จะต้องให้คำแนะนำสั่งสอน  ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ 
                      7.2 ปิยวาจา  หมายถึง  พูดจาด้วยน้ำใจหวังดี  มุ่งให้เป็นประโยชน์และเกิดผลดี  ทำให้เกิดความเชื่อถือและเคารพนับถือ
                      7.3 อัตถจริยา  หมายถึง  การประพฤติอันเป็นประโยชน์  การขวนขวายช่วยเหลือกิจการสาธารณประโยชน์  ตลอดจนช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรมแก่ผู้อื่น
                      7.4 สมานัตตตา  หมายถึง  การทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย  ตลอดจนการวางตัวให้เหมาะแก่ฐานะ  ภาวะ  บุคคล  เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม


8.  อริยมรรค 8  เป็นหนทางปฏิบัติอันประเสริฐ
                      8.1  สัมมาทิฏฐิ  การเห็นชอบ  หมายถึง  การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม  เป็นแสงสว่างส่องทางให้พ้นทุกข์ ครูทั้งหลายหากมีสัมมาทิฏฐิและถือปฏิบัติเป็นอย่างดีย่อมเป็นครู
                      8.2 สัมมาสังกัปปะ  การดำริชอบ  หมายถึง  การคิดอย่างฉลาด  รอบคอบ  รู้จัก  ไตร่ตรอง  เป็นผู้มีวิธีคิด  รู้จักใช้ความคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม  คิดในทางสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อศิษย์ และต่อสังคม
                      8.3 สัมมาวาจา การพูดจาชอบ หมายถึง การไม่พูดจาส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบและไม่พูดปดพูดเท็จ  วิธีพูดของครูมีผลต่อความรู้สึกและจิตใจของศิษย์เสมอ  หากครูพูดด้วยความจริงใจ อ่อนโยน ไพเราะ ย่อมทำให้ศิษย์มีความเคารพและรักนับถือ
                      8.4 สัมมากัมมันตะ  การทำการงานชอบ  หมายถึง  การกระทำกิจการต่างๆ  ด้วยความเต็มใจ  และตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ  เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้เกี่ยวข้อง
                      8.5 สัมมาอาชีพ  การเลี้ยงชีวิตชอบ  หมายถึง  การทำอาชีพสุจริต  และไม่ผิดกฎหมายทั้งหลาย
                      8.6 สัมมาวายามะ  การเพียรชอบ  หมายถึง  การมุ่งมั่นพยายามในทางดี  ครูต้องมีความเพียร  คือ  พยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  มีมานะพยายามสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานตามทำนองคลองธรรม
                      8.7 สัมมาสติ  การระลึกชอบ  หมายถึง  การพิจารณาไต่ตรองในทางที่ถูก  ทั้งมีสติปัญญาเฉียบแปลมรอบคอบ  ในการผจญปัญหาต่างๆ
                      8.8 สัมมาสมาธิ  ความตั้งใจมั่นชอบ  หมายถึง  การตั้งอยู่ในความสงบ  ไม่ปล่อยให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นจนทำให้หลงผิด  หากครูผู้มีความตั้งใจมั่นชอบย่อมเป็นผู้ประสพความสำเร็จในการดำเนินอาชีพครู