วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

คุณธรรมจริยธรรมของครูตามหลักศาสนาพุทธ

  จากการศึกษางานวิจัยด้านจริยธรรมครูพบว่า มีหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ครูควรยึดถือปฏิบัติ ซึ่งได้มาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา  พบว่า มีหลักธรรมใน 10 หมวด  ดังนี้
             1.  หัวใจของพุทธศาสนา 3 ประการ เป็นหลักธรรมที่ครูควรยึดถือและปฏิบัติ คือ
                     1.1  เว้นจากการกระทำความชั่ว
                     1.2  ให้กระทำความดี
                     1.3 ทำจิตใจให้ผ่องใส เบิกบาน
             2.  ธรรมเทศกธรรม 5 คือ การตั้งใจประสิทธิ์ความรู้ โดยตั้งตนอยู่ในธรรม ดังนี้
                     2.1 อนุบุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ มีหลักการสอนตามขั้นตอนการสอนหรือเนื้อหาสาระตามลำดับความง่าย ยาก ลุ่มลึกมีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป
                     2.2 ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจชัดในแต่ละประเด็น อธิบายให้มองเห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล
                     2.3 อนุทยตา ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนผู้เรียนด้วยจิตเมตตาให้เข้าใจ และได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้
                     2.4 อนามิสันดร ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่ง เห็นแก่อามิส คือ สอนผู้เรียนให้ได้รับความรู้ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ มิได้มุ่งที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน เพื่อที่จะได้ลาภสินจ้าง ของขวัญหรือผลประโยชน์ตอบแทน
                     2.5 อนุปหัจจ์ วางจิตตรงไม่ให้กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักการสอนตามเนื้อหาสาระในการสอนมุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจ ไม่แสดงพฤติกรรมเสียดสีผู้อื่น ไม่ยกตนเองกับการเปรียบเทียบหรือข่มขี่ผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย
         

3. หลักตรวจสอบ 3 ครูอาจตรวจสอบตนเองด้วยลักษณะการสอนที่ดี 3 ประการ คือ
                     3.1 สอนด้วยความรู้จริง ทำได้และปฏิบัติได้จริงจึงดำเนินการสอน
                     3.2 สอนอย่างมีเหตุผลให้ผู้เรียนเรียนรู้ และพิจารณาเข้าใจด้วยปัญญาจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
                     3.3 สอนให้ได้ผลจริง สำเร็จตามความมุ่งหมายของเนื้อหาสาระที่สอนให้ผู้เรียนเข้าใจได้อย่างกระจ่าง สามารถนำไปใช้ปฏิบัติเป็นผลสำเร็จได้จริง เป็นต้น
                4.  กัลยาณมิตรธรรม 7 เป็นธรรมมะสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู มีนักวิชาการบางท่านใช้ครุฐานิยม หรือคุรุธรรมนิยม ได้แก่
                    4.1 ปิโย หมายถึง น่ารัก คือ การทำตัวเป็นที่รักแก่ศิษย์และบุคคลทั่วไป การที่ครูจะเป็นที่รักแก่ศิษย์ ต้องวางตนให้เข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกเป็นกันเองชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
                    4.2 ครุ หมายถึง การเป็นบุคคลที่น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ มีความหนักแน่นมั่นคงในด้านจิตใจ เป็นที่พึ่งแก่ผู้เรียนให้รู้สึกปลอดภัย และมีคุณสมบัติในการพัฒนาผู้เรียน
                    4.3 ภาวนีโย คือ การเป็นผู้น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริง มีภูมิปัญญาแท้จริงได้รับการยกย่อง เป็นผู้ที่มีความประพฤติดีงามควรแก่การเคารพ เป็นผู้ที่ฝึกฝนปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ คือ มีบุคลิกภาพดี แต่งกายเรียบร้อย กิริยาท่าทางสง่าผ่าเผย วาจาอ่อนหวาน มีภูมิความรู้จริงและมีระเบียบวินัย การที่ครูจะอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นผู้มีความประพฤติดีจะต้องวางตน และฝึกตนให้เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีด้วย ให้เป็นที่ยกย่องเป็นแบบอย่าง ให้ผู้เรียนระลึกถึง เกิดความซาบซึ้ง มั่นใจและภาคภูมิใจ
                   4.4 วัตตา คือ เป็นผู้ที่มีวาทศิลป์รู้จักพูด รู้จักชี้แจงและอธิบายให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร พูดอย่างไร ทั้งคอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนและให้คำปรึกษาที่ดี เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ความสามารรถ เป็นคนดี คือ ใช้ความรู้ความสามารถไปในทางสุจริต เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้
                   4.5 วจนักขโม คือ เป็นผู้ที่มีความหนักแน่น อดทนต่อถ้อยคำในการ      วิพากษณ์วิจารณ์อดทนต่อกิริยาวาจาอันก้าวร้าวรุนแรงของผู้อื่นได้ เป็นผู้ฟังที่ดีมีความสำรวม สามารถยับยั้งชั่งใจควบคุมอารมณ์ไม่แสดงออกมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะหน้าที่ของครู คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนในการเรียนรู้ให้มีการพัฒนาตนต่อการเรียนรู้ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สังคมต้องการ ครูจะต้องไม่เบื่อหน่ายหรือขุ่นเคือง มีความพร้อมให้ความกระจ่างต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องต่าง ๆ ที่ยังเคลือบแคลงสงสัยไม่เข้าใจอย่างเหมาะสม ครูจะต้องระลึกเสมอว่า ผู้เรียนมีความแตกต่างด้านศักยภาพ ความสามารถและสติปัญญาในการเรียนรู้
                   4.6 คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา คือ สามารถขยายข้อความที่ยากให้ง่ายแก่การเข้าใจ เพราะเนื้อหาสาระในการเรียนรู้ที่ครูนำมาสอน ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้เรียนไม่เคยเรียนมาก่อน ครูจะต้องมีเทคนิคการสอนหรือกลวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องยาก ๆได้ง่าย ด้วยวิธีการสอนอย่างหลากหลาย
                   4.7 โน จัฎฐาเน นิโยชะเย คือ รู้จักและแนะนำผู้เรียนไปในทางที่ถูกที่ควรไม่ชักนำไปในทางชั่ว โดยไม่อธิบายชักชวนหรือชี้แนะในทางที่เสื่อมเสียไม่สมควร

5. ธรรมโลกบาล 2 อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวประจำใจ คือ
                    5.1 หิริ ความละอายใจต่อการทำชั่ว ความละอายแก่ใจไม่คิดทำในสิ่งที่ไม่ดีงาม
                    5.2 โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อการทำความชั่วและผลของการกระทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีงามทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งที่คนเห็นและคนไม่เห็น
                6. พรหมวิหาร 4  เป็นคุณธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่  ครูจะต้องมีธรรมประจำใจอันประเสริฐนี้เพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงาม  ได้แก่
                     6.1 เมตตา  คือ  ความรักใคร่  ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข  มีจิตใจที่ดีงาม  ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีเมตตาเป็นที่ตั้ง
                     6.2 กรุณา  ความสงสาร  เอ็นดูศิษย์  พึงช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์และความไม่รู้
                     6.3 มุทิตา  คือ  ความชื่นชมยินดีเมื่อศิษย์ได้ดี  และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏ  อันเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง
                     6.4 อุเบกขา  คือ  การวางตัววางใจเป็นกลาง  อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา  มีจิตเรียบตรงเพียงธรรมดุจตราชั่ง  ไม่เอนเดียงด้วยรักหรือชัง  พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม  พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเมื่อผู้อื่นร้อนเป็นทุกข์
                 7. สังคหวัตถุ  4  เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคล และการประสานความสามัคคีในกลุ่มคน  ประกอบด้วย
                      7.1 ทาน  หมายถึง การให้ ครูอาจารย์จะต้องให้คำแนะนำสั่งสอน  ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ 
                      7.2 ปิยวาจา  หมายถึง  พูดจาด้วยน้ำใจหวังดี  มุ่งให้เป็นประโยชน์และเกิดผลดี  ทำให้เกิดความเชื่อถือและเคารพนับถือ
                      7.3 อัตถจริยา  หมายถึง  การประพฤติอันเป็นประโยชน์  การขวนขวายช่วยเหลือกิจการสาธารณประโยชน์  ตลอดจนช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรมแก่ผู้อื่น
                      7.4 สมานัตตตา  หมายถึง  การทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย  ตลอดจนการวางตัวให้เหมาะแก่ฐานะ  ภาวะ  บุคคล  เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม


8.  อริยมรรค 8  เป็นหนทางปฏิบัติอันประเสริฐ
                      8.1  สัมมาทิฏฐิ  การเห็นชอบ  หมายถึง  การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม  เป็นแสงสว่างส่องทางให้พ้นทุกข์ ครูทั้งหลายหากมีสัมมาทิฏฐิและถือปฏิบัติเป็นอย่างดีย่อมเป็นครู
                      8.2 สัมมาสังกัปปะ  การดำริชอบ  หมายถึง  การคิดอย่างฉลาด  รอบคอบ  รู้จัก  ไตร่ตรอง  เป็นผู้มีวิธีคิด  รู้จักใช้ความคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม  คิดในทางสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อศิษย์ และต่อสังคม
                      8.3 สัมมาวาจา การพูดจาชอบ หมายถึง การไม่พูดจาส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบและไม่พูดปดพูดเท็จ  วิธีพูดของครูมีผลต่อความรู้สึกและจิตใจของศิษย์เสมอ  หากครูพูดด้วยความจริงใจ อ่อนโยน ไพเราะ ย่อมทำให้ศิษย์มีความเคารพและรักนับถือ
                      8.4 สัมมากัมมันตะ  การทำการงานชอบ  หมายถึง  การกระทำกิจการต่างๆ  ด้วยความเต็มใจ  และตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ  เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้เกี่ยวข้อง
                      8.5 สัมมาอาชีพ  การเลี้ยงชีวิตชอบ  หมายถึง  การทำอาชีพสุจริต  และไม่ผิดกฎหมายทั้งหลาย
                      8.6 สัมมาวายามะ  การเพียรชอบ  หมายถึง  การมุ่งมั่นพยายามในทางดี  ครูต้องมีความเพียร  คือ  พยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  มีมานะพยายามสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานตามทำนองคลองธรรม
                      8.7 สัมมาสติ  การระลึกชอบ  หมายถึง  การพิจารณาไต่ตรองในทางที่ถูก  ทั้งมีสติปัญญาเฉียบแปลมรอบคอบ  ในการผจญปัญหาต่างๆ
                      8.8 สัมมาสมาธิ  ความตั้งใจมั่นชอบ  หมายถึง  การตั้งอยู่ในความสงบ  ไม่ปล่อยให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นจนทำให้หลงผิด  หากครูผู้มีความตั้งใจมั่นชอบย่อมเป็นผู้ประสพความสำเร็จในการดำเนินอาชีพครู



9.  อิทธิบาท 4  เป็นหลักธรรมที่ทำให้ทำงานประสบความสำเร็จ  ประกอบด้วย
                      9.1 ฉันทะ คือ ความพึงพอใจ  ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ  และปรารถนาทำให้ได้ผลดียิ่งๆ  ขึ้นไป
                      9.2 วิริยะ คือ  ความเพียร ขยันหมั่นเพียรประกอบสิ่งนั้นๆ  ด้วยความพยายามเข้มแข็งอดทน
                      9.3 จิตตะ คือ  ความคิดตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด  เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านจากสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
                      9.4 วิมังสา  คือ  ความไตร่ตรอง  หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และมีการวางแผน  ปรับปรุงงานอยู่เสมอ
                      สรุป  อริยมรรคนี้จำแนกได้เป็น  3  กลุ่ม  คือ กลุ่มแรก  ได้แก่  สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะเป็นเรื่องของปัญญาหรือความสว่าง  กล่าวคือ  ผู้มีปัญญาหรือความสว่างย่อมรู้  และคิดในทางที่ถูกและที่ดี  กลุ่มที่สอง  คือ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  และสัมมาอาชีวะ  เป็นกลุ่มธรรมที่เกี่ยวกับการรักษาศีลหรือความสะอาด  ผู้มีธรรมเหล่านี้ย่อมไม่เกิดความสับสน  วุ่นวาย  ทะเลาะเบาะแว้งแข่งขันชิงดีชิงเด่น    กลุ่มสุดท้าย  คือ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ  เป็นธรรมที่เกี่ยวกับสมาธิหรือความสงบ
                  10.  ลีลาการสอน  4  การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง จะดำเนินไปจนถึงผลสำเร็จ โดยมีคุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่า เป็นลีลาในการสอน 4 อย่างดังนี้
                        10.1 สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา
                        10.2 สมาทปนา ชักจูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ
                         10.3 สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก
                         10.4 สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับจากการปฏิบัติ
                         อาจผูกเป็นคำสั้น ๆ ได้ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง หรือ ชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน

เว็บไวต์อ้างอิง http://www.gotoknow.org/blogs/posts/323091



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น